สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอำนาจเจริญ
ศูนย์ราขการจังหวัด ชั้น 1 ต.โนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ 37000
โทรศัพท์ : 045-523-052 Email : aj_ops@moc.go.th
บรรยายสรุปจังหวัดอำนาจเจริญ
---------------------------
ข้อมูลทั่วไปจังหวัดอำนาจเจริญ
จังหวัดอำนาจเจริญ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำนาจเจริญ เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานจากการค้นพบแหล่งชุมชนโบราณ โบราณสถาน และโบราณวัตถุตามที่กรมศิลปากรค้นพบและสันนิษฐานไว้ตามหลักฐานทางโบราณคดี (ใบเสมาอายุราว 1,000 ปี) และได้ตั้งเป็นเมืองมานานหลายร้อยปี ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 พร้อมกับจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดสระแก้ว เดิมเป็นอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยอำเภออำนาจเจริญ (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองอำนาจเจริญ) อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน อำเภอเสนางคนิคม และกิ่งอำเภอลืออำนาจ (ปัจจุบันคืออำเภอลืออำนาจ) คำว่าอำนาจเจริญเป็นคำยืมจากภาษาเขมร มีความหมายตามตัว คือ อำนาจเจริญ เมืองที่มีสมญานามว่า เมืองข้าวหอมโอชา ถิ่นเสมาพันปี
อาณาเขต
ทิศเหนือ | ติดต่อกับจังหวัดยโสธรและจังหวัดมุกดาหาร |
ทิศตะวันออก | ติดต่อกับประเทศลาว (โดยมีแม่น้ำโขงไหลคั่น) และจังหวัดอุบลราชธานี |
ทิศใต้ | ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี |
ทิศตะวันตก | ติดต่อกับจังหวัดยโสธร |
ประวัติศาสตร์
ศาลหลักเมืองอำนาจเจริญ
เมื่อปี พ.ศ. 2357 เจ้าพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 (ต้นสายสกุล " พรหมวงศานนท์ " ) ได้มีใบบอกลงไปกราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขอพระราชทานตั้งบ้านโคกก่งดงพะเนียง เป็นเมืองเขมราษฎร์ธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านโคกก่งดงพะเนียงขึ้นเป็นเมือง ตามที่พระพรหมวรราชสุริยวงศากราบทูล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราช (ก่ำ) พระโอรสเจ้าพระวอ เป็นที่พระเทพวงศา (ก่ำ) (2357-2369)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2369 เกิดศึกระหว่างกรุงเทพมหานครกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ได้ยกทัพมายึดเมืองเขมราษฎร์ธานี ขอให้พระเทพวงศา (ก่ำ) เข้าเป็นพวกด้วย แต่พระเทพวงศาไม่ยอมจึงถูกประหารชีวิต พระเทพวงศา (ก่ำ) มีบุตร 4 คน บุตรชายคนหนึ่งคือพระเทพวงศา (บุญจันทร์) มีบุตรชาย 2 คน คือ ท้าวบุญสิงห์และท้าวบุญชัย ต่อมาท้าวบุญสิงห์ได้เป็นเจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานี มียศเป็นพระเทพวงศา (บุญสิงห์) มีบุตรชาย 2 คน คือ ท้าวเสือและท้าวพ่วย ต่อมาท้าวพ่วยได้รับการแต่งตั้งเป็นท้าวขัตติยะ และเป็นเจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานีลำดับที่ 5 ตำแหน่งพระเทพวงศา (พ่วย) ส่วนท้าวเสือได้รับยศเป็นท้าวจันทบุฮมหรือจันทบรม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2401 ท้าวจันทบรม (เสือ) ได้มีใบกราบบังคมทูลทรงกรุณาทราบ ขอยกฐานะบ้านค้อใหญ่ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอลืออำนาจ) ขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านค้อใหญ่ขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า เมืองอำนาจเจริญ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวจันทบรม (เสือ) บุตรพระเทพวงศา บุญสิงห์) เจ้าผู้ครองเมืองเขมราษฎร์ธานี องค์ที่ 4 มีศักดิ์เป็นเหลนเจ้าพระวรราชภักดี เจ้าผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน พระองค์ที่ 3 อันสืบมาจากราชวงศ์สุวรรณปางคำ เป็นที่พระอมรอำนาจ (เสือ) ต้นสายสกุลอมรสิน และอมรสิงห์ ดังปรากฏตราสารตั้งเจ้าเมืองอำนาจเจริญ เมืองอำนาจเจริญจึงได้รับการสถาปนาเป็นเมืองตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยขึ้นการบังคับบัญชาของเจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานี
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองให้เข้าสู่ระบบการบริหารราชการแผ่นดินแบบยุโรปตามแบบสากล เป็นเทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ. 2429-2454 โดยยกเลิกการปกครองแบบเดิมที่ให้มีเจ้าเมือง อุปราช ราชวงศ์ และราชบุตร ที่เรียกว่า อาญาสี่
นับแต่ปี พ.ศ. 2429-2454 ได้ยกเลิกการปกครองแบบเก่า คือ ยกเลิกตำแหน่งอาญาสี่สืบสกุลในการเป็นเจ้าเมืองนั้นเสีย จัดให้ข้าราชการจากราชสำนักในกรุงเทพมหานครมาปกครอง เปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้ปกครองจากเจ้าเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองแทน และปรับปรุงการปกครองหัวเมืองมณฑลอีสาน จึงยุบเมืองเล็กเมืองน้อยรวมเป็นเมืองใหญ่ ยุบเมืองเป็นอำเภอ เช่น เมืองเขมราษฎร์ธานี เมืองยศสุนทร (ยโสธร) เมืองฟ้าหยาด (มหาชนะชัย) เมืองลุมพุก (คำเขื่อนแก้ว) เมืองขุหลุ (ตระการพืชผล) เมืองอำนาจเจริญ ไปขึ้นการปกครองกับเมืองอุบลราชธานี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อำเภออำนาจเจริญ จึงได้แต่งตั้งนายอำเภอปกครอง
นายอำเภอคนแรก คือ รองอำมาตย์โทหลวงเอนกอำนาจ (เป้ย สุวรรณกูฏ) พ.ศ. 2454-2459 ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2459 ย้ายตัวอำเภอจากที่เดิม (บ้านค้อ บ้านอำนาจ อำเภอลืออำนาจในปัจจุบัน) มาตั้ง ณ ตำบลบุ่งซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองในปัจจุบัน ตามคำแนะนำของพระยาสุนทรพิพิธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขามณฑลอีสาน ได้เดินทางมาตรวจราชการโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ มีความเห็นว่าหากย้ายอำเภอมาตั้งใหม่ที่บ้านบุ่งซึ่งเป็นชุมชนและชุมทางสี่แยกระหว่างเมืองอุบลราชธานีกับมุกดาหาร และเมืองเขมราฐกับเมืองยศ (ยโสธร) โดยคาดว่าจะมีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต โดยใช้ชื่อว่า อำเภอบุ่ง [เสนอแนะย้ายพร้อมกับอำเภอเดชอุดม ย้ายจากเมืองขุขันธ์ (ในเขตจังหวัดศรีสะเกษปัจจุบัน) มาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี] และยุบเมืองอำนาจเจริญเดิมเป็นตำบลชื่อว่าตำบลอำนาจ ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกว่า "เมืองอำนาจน้อย" อยู่ในเขตท้องที่อำเภอลืออำนาจในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนชื่อจากอำเภอบุ่งเป็น "อำเภออำนาจเจริญ" ขึ้นการปกครองกับจังหวัดอุบลราชธานี
ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ พุทธศักราช 2536 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ตรงกับวันพุธ แรม 3 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา ให้แยกอำเภออำนาจเจริญ อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน อำเภอเสนางคนิคม และกิ่งอำเภอลืออำนาจ (ปัจจุบันอำเภอลืออำนาจ) รวม 6 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ ออกจากการปกครองจังหวัดอุบลราชธานีรวมกันขึ้นเป็นจังหวัดใหม่ชื่อว่า จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดลำดับที่ 76 ของประเทศไทยและยกฐานะอำเภออำนาจเจริญเป็น อำเภอเมืองอำนาจเจริญ (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 4-5-6 เล่ม 110 ตอนที่ 125 ลงวันที่ 2 กันยายน 2536)
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ถิ่นใบเสมาพันปี
จังหวัดอำนาจเจริญ มีหลักฐานหลายอย่างที่แสดงว่า เคยมีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามยุคสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาถึงยุคปัจจุบัน ผ่านฐานะการเป็นบ้านเมืองมาหลายระดับ จากชุมชนโบราณมา เป็นบ้านเมือง พื้นที่ของจังหวัดอยู่ในเขตแอ่งโคราช อาณาเขตด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำโขง ทางด้านทิศใต้คลุมลำเซบก อยู่ใกล้กับลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน ทางทิศตะวันตกติดกับลำเซบาย อยู่ใกล้กับลุ่มแม่น้ำชี ลำน้ำทั้งหลายดังกล่าวเป็นเส้นทางสำคัญของการแพร่กระจายอารยธรรม จากรัฐอื่น ๆ มาสู่แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร และสืบเนื่องมาถึงบริเวณที่เป็นพื้นที่ของจังหวัดในปัจจุบัน
การตั้งถิ่นฐาน
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง ที่มีอยู่ในเขตจังหวัด เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเมือง ตำบลไม้กลอน อำเภอพนา แหล่งโบราณคดีโนนเมือง บ้านกุดซวย ตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน แหล่งโบราณคดีโนนยาง บ้านดอนเมย ตำบลดอนเมย อำเภอเมือง ฯ และแหล่งโบราณคดีโนนงิ้ว บ่านชาด ตำบลเค็งใหญ่ อำเภอหัวตะพาน เป็นต้น ได้พบขวานสำริด เครื่องประดับที่ทำด้วยสำริด ปรากฏว่ามีลักษณะคล้ายกับโบราณวัตถุที่พบในวัฒนธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และพื้นที่ที่เป็นบริเวณแหล่งโบราณคดี มีลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างกลมบ้าง รีบ้าง พร้อมทั้งมีคันดินล้อมรอบเนินดิน ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะของชุมชนโบราณ
เมื่อพิจารณาพื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี และโบราณวัตถุ ที่ขุดพบในเขตจังหวัด แสดงว่าเคยมีมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งถิ่นฐานอยู่เมื่อ ๓,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ ปี มาแล้ว โดยมีหลักฐานภาพเขียนสีบนหน้าผา เป็นข้อสันนิษฐาน กล่าวคือ ภาพเขียนสีบนหน้าผาของภูผาแต้ม ในอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งอยู่ติดชายเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะร่วมสมัยกับภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบล ฯ มีตำนานพื้นบ้านบางเรื่อง เช่น ผาแดง นางไอ่ และตำนานอุรังคธาตุ ได้กล่าวถึงชุมชนนาคว่า เคยมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานของไทย
ยุคประวัติศาสตร์
มีบางท่านกล่าวว่าเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ชาวอินเดียได้เดินทางด้วยเรือเพื่อมาค้าขายในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านทะเลมาทางเกาะชวา เข้าสู่ประเทศไทยสองสายคือ ทางหนึ่งเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านเข้าเขตเมืองนครสวรรค์ ผ่านอาณาจักรศรีนาศะ สู่ภาคอีสานด้านที่ราบสูงโคราช แล้วกระจายสู่ลุ่มน้ำมูล - ชี อีกสายหนึ่งเข้ามาทางจังหวัดปราจีนบุรี ผ่านอำเภอกบินทรบุรี ข้ามช่องเขาเข้าสู่ภาคอีสาน ทางอำเภอปักธงชัย สู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง การเข้ามาของชาวอินเดีย ในครั้งนั้นได้นำเอาวัฒนธรรมแบบทวารวดี ที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และวัฒนธรรมเจนละ หรือขอม ก่อนเมืองพระนคร ที่สัมพันธ์กับคติความเชื่อแบบฮินดู และพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ในลุ่มน้ำมูล น้ำชี และน้ำโขง ต่อมาวัฒนธรรมดังกล่าวได้แพร่เข้าสู่เขตจังหวัดอำนาจเจริญทางแม่น้ำโขง แม่น้ำมูลตอนล่าง และแม่น้ำชีตอนล่าง แล้วกระจายไปตามลำเซบก และลำเซบาย ดังนั้นคนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนได้แก่ พวกข่า กวย และส่วย จึงเป็นกลุ่มชนแรก ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ที่รับเอาวัฒนธรรมแบบทวารวดี และเจนละ ไว้ จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชนในสมัยทวารวดี ซึ่งเคยรุ่งเรืองอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ ได้แก่ พระพุทธรูปปางประทานอภัย สมัยทวาวรดี พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเมือง ตำบลไม้กลอน อำเภอพนา ใบเสมาหินทรายสลักรูปหม้อน้ำ และธรรมจักร สมัยทวารวดี พบที่แหล่งโบราณคดีดงเฒ่าเก่า บ้านนาหมอม้า อำเภอเมือง ฯ อิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดี มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา โบราณวัตถุที่พบในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ เช่น พระพุทธรูป และใบเสมาหินทราย สมัยทวารวดี ล้วนสร้างขึ้นมาตามคติทางพระพุทธศาสนา นอกจากกลุ่มชนในสมัยทวารวดี จะเคยตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดอำนาจเจริญแล้ว กลุ่มชนในสมัยวัฒนธรรมเจนละ หรือขอม ก่อนเมืองพระนคร ก็เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕
สมัยวัฒนธรรมไทย - ลาว ถึงปัจจุบัน
วิหารวัดสมัยล้านช้าง พนา
พระเหลา เมืองพนานิคม
อิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดี และเจนละสิ้นสุดลงเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จนถึง พ.ศ. ๒๒๕๔ - ๒๒๖๓ จึงปรากฏหลักฐานกลุ่มชนไทย - ลาว อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีอยู่สามกลุ่มด้วยกันคือ
กลุ่มแรก มาจากกรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์ พร้อมกับพระครูโพนเสม็ด เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๒๓๓ ลงมาตามลำแม่น้ำโขงจนถึงเมืองนครจัมปาศักดิ์ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านทรายมูล และบ้านดอนหนองเมือง ต่อมากลายเป็นบ้านพระเหลา และเมืองพนานิคม หรืออำเภอพนา ในปัจจุบัน
กลุ่มที่สอง กลุ่มนี้อพยพหนีภัยสงครามของกลุ่มเจ้าพระวอ (พ.ศ. ๒๓๑๓ - ๒๓๑๙) จากเมืองหนองบัวลำภู ผ่านมาทางบ้านสิงห์ท่า หรือเมืองยโสธร สู่นครจำปาศักดิ์ แล้วกลับมาบ้านดอนมดแดง ซึ่งปัจจุบันคือ จังหวัดอุบลราชธานี
กลุ่มที่สาม อพยพเข้ามาเนื่องจากกบฏเจ้าอนุวงศ์ และการเกลี้ยกล่อมตามนโยบายให้คนพื้นเมืองปกครอง คนพื้นเมือง ตามแนวความคิดของ พระสุนทรราชวงศา (บุต) เจ้าเมืองยโสธร กลุ่มดังกล่าวได้แก่ ชาวลาว ชาวไทโย่ย ชาวไทแสก ชาวไทญอ และชาวผู้ไท ซึ่งอยู่ติดกับแดนญวน ซึ่งเรียกว่า หัวเมืองพวน ได้อพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เข้ามาตั้งบ้านเรือนทั่วภาคอีสานของไทย
การตั้งเมืองอำนาจเจริญ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกฐานะบ้านค้อใหญ่ ขึ้นเป็นเมืองอำนาจเจริญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ให้ท้าวจันทบุรบ (เสือ) เป็น พระอมรอำนาจ เจ้าเมือง ขึ้นกับเมืองเขมราฐธานี ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เมื่อบ้านค้อใหญ่ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองอำนาจเจริญ มีเหตุการณ์ทางด้านการเมือง การปกครอง เกี่ยวข้องดังนี้ พ.ศ. ๒๔๑๐ เมืองอำนาจเจริญขอขึ้นกับเมืองอุบล ฯ พระอมรอำนาจมีใบบอกมายังกรุงเทพ ฯ ขอให้เมืองอำนาจเจริญขึ้นกับเมืองอุบล ฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ตามที่ขอ
พ.ศ. ๒๔๒๒ ตั้งเมืองชานุมานมณฑล และเมืองพนานิคม
พ.ศ. ๒๔๓๐ - ๒๔๓๑ เมืองอำนาจเจริญต้องส่งส่วย ๒ ปี เป็นเงิน ๒๓ ชั่ง ๑๔ ตำลึง และ ๒๗ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ตามลำดับ
พ.ศ. ๒๔๓๓ เมืองอำนาจเจริญขึ้นกับหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ
พ.ศ. ๒๔๓๔ เมืองอำนาจเจริญขึ้นกับหัวเมืองลาวกาว เนื่องจากช่วงเวลานั้นฝรั่งเศสได้ญวน และเขมรไว้ในครอบครอง อังกฤษได้พม่าไว้ในครอบครอง และได้จัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสม ทำให้ราษฎรไทยที่อยู่ตามชายแดนที่ติดกับญวน เขมร และพม่า เกิดความสับสนเพราะระเบียบการปกครองไม่เหมือนกัน ทางกรุงเทพ ฯ จึงได้จัดระเบียบการบริหารหัวเมืองให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยร
พ.ศ. ๒๔๓๗ ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล ได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ รศ.๑๑๖ ขึ้นโดยให้รวมกลุ่มจังหวัดชั้นนอกเข้าเป็นมณฑล แบ่งบริเวณมณฑลออกเป็นห้าส่วนคือ มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
พ.ศ. ๒๔๔๓ เปลี่ยนฐานะเมืองอำนาจเจริญเป็นอำเภออำนาจเจริญ นายอำเภอคนแรกคือหลวงธรรมโลภาศพัฒนเดช (ทอง)
พ.ศ. ๒๔๕๒ อำเภออำนาจเจริญย้ายไปขึ้นกับเมืองยโสธร
พ.ศ. ๒๔๕๓ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ทางราชการมีนโยบายไม่ให้จำหน่ายข้าวออกจากพื้นที่
พ.ศ. ๒๔๕๔ ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่าราชการ รศ.๑๒๐ ให้เก็บคนละ ๓.๕๐ บาท
พ.ศ. ๒๔๕๕ ย้ายอำเภออำนาจเจริญไปขึ้นกับจังหวัดอุบล ฯ
พ.ศ. ๒๔๕๘ ย้ายอำเภออำนาจเจริญจากบ้านค้อใหญ่ไปตั้งที่บ้านบุ่ง ติดกับลำห้วยปลาแดก
พ.ศ. ๒๔๕๙ เปลี่ยนชื่อเมืองที่เป็นศูนย์กลางที่มีอำเภอมารวมขึ้นด้วยว่าจังหวัด
พ.ศ. ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่ออำเภออำนาจเจริญเป็นอำเภอบุ่ง
พ.ศ. ๒๔๖๔ ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาครั้งที่ ๑ ในเขตตำบลบุ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอบุ่ง
พ.ศ. ๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่ออำเภอบุ่งเป็นอำเภออำนาจเจริญ และย้ายตัวอำเภอมาตั้งอยู่บริเวณสระหนองเม็ก
พ.ศ. ๒๕๑๐ แยกตำบลออกเป็นสี่ตำบลคือ ตำบลหัวตะพาน ตำบลคำพระ ตำบลเค็งใหญ่ และตำบลหนองแก้ว เพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอหัวตะพาน และยกฐานะเป็นอำเภอหัวตะพาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖
พ.ศ. ๒๕๑๘ แยกตำบลออกเป็นห้าตำบลคือตำบลเสนางคนิคม ตำบลไร่สีสุก ตำบลนาเวียง ตำบลโพนทอง และตำบลหนองไฮ เพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอเสนางคนิคม และยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖
พ.ศ. ๒๕๑๙ เสนอพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดอำนาจเจริญครั้งที่หนึ่ง แต่ตกไปเพราะมีการปฏิรูปการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙
พ.ศ. ๒๕๒๒ เสนอพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดอำนาจเจริญครั้งที่สอง สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการแล้วให้ตั้งศาลจังหวัดอำนาจเจริญก่อน
พ.ศ. ๒๕๒๓ ตั้งศาลจังหวัดอำนาจเจริญ กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดอำนาจเจริญ
พ.ศ. ๒๕๒๕ รัฐสภาออกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดอำนาจเจริญ พ.ศ. ๒๕๒๕ และได้เปิดทำการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗
พ.ศ. ๒๕๓๔ แยกตำบลออกหกตำบลคือตำบลอำนาจ ตำบลเปือย ตำบลดงมะยาง ตำบลดงบัง ตำบลแบด และตำบลไร่ขี เพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอบันลืออำนาจ และยกฐานะเป็นอำเภอลืออำนาจ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙
พ.ศ. ๒๕๓๖ แยกตำบลที่เป็นรอยต่อสามอำเภอออกเป็นหกตำบล เพื่อตั้งเป็นอำเภอปทุมราชวงศา ตามนามเจ้าเมืองอุบล ฯ คนแรก
๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ
อำนาจเจริญในปัจจุบัน
จังหวัดอำนาจเจริญเป็นจังหวัดลำดับที่ ๗๕ มีอำเภอขึ้นสังกัด เจ็ด อำเภอคืออำเภอเมือง ฯ อำเภอชานุมาน อำเภอเสนางคนิคม อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน และอำเภอลืออำนาจ
เหตุการณ์สำคัญของจังหวัด
เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๒๑ ในพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอเสนางคนิคม อำเภอชานุมาน อำเภอเขมราฐ อำเภอดอนตาล และอำเภอเลิงนกทา ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเป็นพื้นที่สีชมพู ศูนย์กลางขบวนการอยู่ภายในเขตภูสระดอกบัว มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ เพื่อต่อสู้กับทางราชการ หมู่บ้านที่มีการจัดตั้งกองกำลังมากที่สุดคือ บ้านโพนทอง บ้านโป่งหิน บ้านหนองโน บ้านสามโคก บ้านน้อยดอกหญ้า บ้านนาไร่ใหญ่ และบ้านนาสะอาด ทั้งหมดอยู่ในเขตอำเภอเสนางคนิคม กองกำลังติดอาวุธอาศัยอยู่ในป่าภูโพนทอง ภูสระดอกบัว ภารกิจหลักของกองกำลังติดอาวุธคือ การหามวลชนเพิ่ม การยึดพื้นที่เพื่อแสดงอำนาจ และขยายอาณาเขตการทำงาน โดยจัดกำลังเข้าปะทะกับกองกำลังของทางราชการด้วยอาวุธสงคราม
การจัดงานบุญงานประเพณีต่าง ๆ ในเวลานั้นไม่สามารถจัดในเวลากลางคืนได้ จะทำได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น การพัฒนาต่าง ๆ หยุดชะงักลง
ความขัดแย้งและการต่อสู้ค่อย ๆ ลดลง และยุติการต่อสู้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เหตุผลที่ยุติคือ ทางราชการได้กระจายความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ทราบความต้องการและเข้าใจปัญหาของประชาชน ให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เคยต่อสู้กับทางราชการ โดยการจัดหาที่ทำกินให้ และลดเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งต่าง ๆ ลง นอกจากนั้นสัญญาที่พรรคคอมมิวนิส์เคยให้ไว้ แก่ประชาชนที่เข้าร่วมขบวนการว่า พรรคจะให้เงิน รถไถนา และรถแทรกเตอร์ ตลอดทั้งยศ ตำแหน่งต่าง ๆ เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้กลุ่มผู้หลงผิดไม่เชื่อถือ และกลับใจให้ความร่วมมือกับทางราชการ ตั้งแต่นั้นมา
เหตุการณ์กบฏผีบุญที่อำเภอเสนางคนิคม
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เกิดขึ้นที่บ้านหนองทับม้า ก่อนนั้นได้มีข่าวลือไปทั่วแดนอีสานว่า หินกรวด ที่อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จะกลับมากลายเป็นเงินเป็นทอง ทำให้มีคนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปที่อำเภอเสลภูมิ ชาวบ้านหนองทับม้า ก็เดินทางไปด้วย และในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ได้มีข่าวลือแพร่กระจายออกไปว่า ฟักทองน้ำเต้า จะกลับกลายเป็นช้าง เป็นม้า ควายเผือก ควายทุยจะกลับมาเกิดเป็นยักษ์กินคน ท้าวธรรมิกราชจะมาเกิดเป็นเจ้าโลก ผู้หญิงที่เป็นโสดให้รีบมีสามี มิฉะนั้นจะถูกยักษ์จับไปกิน บ้านเมืองจะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง ข่าวลือนี้ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวแตกตื่นไปทั่ว
ขณะนั้น ได้มีผู้อ้างตัวเป็นผู้วิเศษ เดินทางมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ชื่อ องค์มั่น และองค์เขียว แต่งตัวนุ่งขาวห่มขาวด้วยผ้าจีบต่าง ๆ กัน มีปลอกใบลานเป็นคาถาสวมศีรษะ ปรากฏตัวที่บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล ให้ชาวบ้านมารดน้ำมนต์ และให้ผู้วิเศษเสกคาถาอาคมให้ นอกจากนั้นยังมีข่าวอีกกระแสหนึ่งบอกว่า ผู้วิเศษเหล่านั้นได้เตรียมการ จะยกทหารจากเวียงจันทน์เข้ามาตีเมืองอุบลราชธานี
เมื่อข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ทราบข่าวจึงได้ขอกำลังจากหัวเมืองต่าง ๆ มาช่วยจนปราบได้ราบคาบ และจับผู้นำคนสำคัญคือ องค์มั่น กับองค์เขียว มาผูกมัดไว้บริเวณทุ่งศรีเมือง ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน คณะตุลาการจึงได้ตัดสินประหารชีวิต โดยตัดหัวเสียบประจานไว้ที่กลางทุ่งศรีเมือง
ส่วนทางเมืองเสนางคนิคมนั้น ก็ได้มีเหตุการณ์คล้าย ๆ กันคือ ได้มีพ่อใหญ่พิมสาร เดินทางมาจากบ้านด่านหนองสิบ อำเภอเลิงนกทา อ้างว่าเป็นผู้วิเศษ หลอกลวงให้ชาวบ้านโกนหัว ถ้าใครไม่ทำตามยักษ์จะจับเอาไปกิน และหากครัวเรือนใดมีควายเผือก ควายทุยให้เอาไปฆ่าทิ้งเสีย เมื่อทางราชการเมืองอุบล ฯ ทราบข่าวจึงให้ทหารและเจ้าหน้าที่ ออกไปสืบข่าวได้ความว่า ผู้ที่หลอกลวงชาวบ้านให้โกนหัวคือ เฒ่าพิมสาร และพ่อใหญ่ทิม จึงจับตัวไปมัดไว้ที่นาหนองกลาง อีกสามวันต่อมาก็ถูกประหาร และนำหัวไปเสียบประจานไว้ ทางด้านตะวันออกของวัดโพธาราม
ประวัติการตั้งอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัด
อำเภอบางอำเภอของจังหวัดอำนาจเจริญ เช่น อำเภอชานุมาน อำเภอเสนางคนิคม และอำเภอพนา มีประวัติความเป็นมาร่วมสมัยกับประวัติของจังหวัดอำนาจเจริญ
อำเภอชานุมาน เดิมมีฐานะเป็นเมืองขึ้นกับจังหวัดอุบล ฯ ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒ อำเภอชานุมานขึ้นตรงต่อเมืองอุบล ฯ ตลอดมาจนถึงการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ เมืองชานุมานมณฑลถูกลดฐานะลงเป็น อำเภอชานุมานมณฑล ขึ้นกับเมืองอุบล ฯ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ อำเภอชานุมานได้ถูกลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอชานุมานมณฑล ขึ้นต่ออำเภอเขมราฐ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภออีกครั้ง และในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้มาขึ้นกับจังหวัดอำนาจเจริญ
อำเภอพนา เดิมมีฐานะเป็นเมือง ชื่อเมืองพนานิคม ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้โปรดเกล้า ฯ ให้ ตั้งบ้านเผลา (พระเหลา) เป็นเมืองพนานิคม และโปรดเกล้า ฯ ให้เพียเมืองจันทน์ เป็นพระจันทวงษา เจ้าเมือง ขึ้นตรงต่อเมืองอุบล ฯ
ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ เมืองพนานิคมถูกลดฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดอุบล ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ยุบอำเภอตระการพืชผล รวมกับอำเภอพนานิคม
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอพนานิคมมาตั้งที่บ้านขุหลุ แต่ยังคงเรียกชื่อเดิม ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอขุหลุ เพื่อให้สัมพันธ์กับพื้นที่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นเมืองพนานิคมอีกครั้ง จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ทางราชการจึงแยกท้องที่ห้าตำบล ที่เคยอยู่ในอำเภอพนานิคม มาตั้งเป็นกิ่งอำเภอพนา ส่วนอำเภอพนานิคม ที่บ้านขุหลุ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอตระการพืชผล
กิ่งอำเภอพนา ได้รับการยกฐานะให้เป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และได้มาขึ้นกับจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖
อำเภอเสนางคนิคม เดิมมีฐานะเป็นเมือง ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๘ เนื่องด้วยพระพรหมราชวงศา (ท้าวทิดพรหม) เจ้าเมืองอุบล ฯ คนที่ ๒ ได้นำพระศรีสุราช เมืองตะโปน ท้าวอุปฮาด เมืองชุมพร ท้าวฝ่ายเมืองผาบัว และท้าวมหาวงศ์ เมืองกาว ได้พาครอบครัวไพร่พลรวม ๑,๘๔๗ คน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้มาตั้งอยู่ที่บ้านช่องนาง แขวงเมืองอุบล ฯ และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเป็นเมืองเสนางคนิคม ให้พระศรีสุราช เป็นที่ พระศรีสินธุสงคราม เจ้าเมือง แต่เจ้าเมืองกลับพาผู้คนไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านห้วยปลาแดก
พ.ศ. ๒๔๔๓ เมืองเสนางคนิคม ถูกลดฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดอุบล ฯ
พ.ศ. ๒๔๕๕ อำเภอเสนางคนิคม ถูกลดฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภออำนาจเจริญ
พ.ศ. ๒๔๖๐ กิ่งอำเภอเสนางคนิคม เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอหนองทับม้า ให้เหมาะสมกับที่ตั้ง
หลังปี พ.ศ. ๒๔๗๕ กิ่งอำเภอหนองทับม้าถูกยุบไป
พ.ศ. ๒๕๑๘ กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศตั้งกิ่งอำเภอเสนางคนิคมขึ้นอีกครั้ง และได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และขึ้นกับจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖
ลักษณะอากาศและอุตุนิยมวิทยา
แผนที่ทรัพยากรจังหวัดอำนาจเจริญ
จังหวัดอำนาจเจริญ อยู่ในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของจังหวัดอื่น ๆ ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเรื่อยไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม และมักปรากฏเสมอว่าฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม แต่ระยะเวลาการทิ้งช่วงมักจะไม่เหมือนกันในแต่ละปี และในช่วงปลายฤดูฝน มักจะมีพายุดีเปรสชั่นฝนตกชุกบางปีอาจมีภาวะ น้ำท่วมแต่ภาวการณ์ไม่รุนแรงนัก ฤดูหนาว เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของประเทศ ทำให้ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือก่อนภูมิภาคอื่น อุณหภูมิจะเริ่มลดต่ำลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและจะสิ้นสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อน ถึงแม้ว่าเคยปรากฏบ่อยครั้งว่าอากาศยังคงหนาวเย็นยืดเยื้อมาจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยส่วนใหญ่แล้วอากาศจะ เริ่มอบอ้าว ในเดือนมีนาคมไปจนถึงประมาณต้นเดือนพฤษภาคมซึ่งอาจจะมีฝน เริ่มตกอยู่บ้างในปลายเดือนเมษายน แต่ปริมาณน้ำฝนมักจะไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก นอกจากนั้นลักษณะภูมิอากาศทั่วไปคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จะมีอากาศร้อน ในฤดูหนาวค่อนข้างหนาว ส่วนในฤดูฝนจะมีฝนตกชุก ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541 มีฝนตกประมาณ 106 วัน ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 1,297.3 มิลลิเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดเป็นที่ลุ่ม มีเนินเขาเตี้ย ๆ ทอดยาวไปจรดกับจังหวัดอุบล ฯ ในเขตอำเภอชานุมาน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ ๖๘ เมตร ลักษณะของดิน เป็นดินร่วนปนทราย มีดินลูกรังอยู่บางส่วน สามารถแบ่งลักษณะภูมิประะเทศออกได้เป็นสองบริเวณคือ บริเวณที่ราบสูง ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูง บางส่วนเป็นลูกคลื่น ลอนตื้น หรือเนินเขาเตี้ย ๆ อยู่ในเขตอำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม บริเวณที่ราบ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบถึงลูกคลื่นลอนตื้น เป็นแนวยาวตามทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอพนา อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอหัวตะพาน และอำเภอลืออำนาจ เทือกเขา ได้แก่ เทือกเขาภูพาน เป็นเทือกเขาที่ทอดผ่านหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในส่วนที่อยู่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ จะอยู่ในเขตอำเภอเสนางคนิคม มีลักษณะเป็นเทือกเขาที่สูงไม่มากนัก เป็นเนินเขาเตี้ยๆ ลักษณะภูมิสัณฐาน แบ่งออกได้เป็นสี่บริเวณด้วยกันคือ บริเวณที่เป็นสันดินริมแม่น้ำ เกิดจากตะกอนลำน้ำที่พัดมาทับถม สภาพพื้นที่เป็นเนินสันดิน พบบริเวณสันดินริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอชานุมาน และบริเวณสันดินริมฝั่งลำน้ำเซบาย ในเขตอำเภอหัวตะพาน บริเวณที่เป็นแอ่ง หรือที่ราบหลังแม่น้ำ เกิดจากการกระทำของขบวนการน้ำ พบบางแห่งเป็นบริเวณลำเซบายของอำเภอหัวตะพาน จะมีน้ำแช่ขังนานในฤดูฝน บริเวณที่เป็นแบบลานตะพักน้ำ เกิดจากการกระทำของขบวนการน้ำมานานแล้ว ประกอบด้วยบริเวณที่เป็นลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ ระดับกลาง ระดับสูง ลักษณะพื้นที่มีทั้งเป็นแบบที่ราบแบบลูกคลื่นลอนลาด จนถึงลูกคลื่นลอนชัน จะอยู่ถัดจากบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงขึ้นมา พบได้ในพื้นที่ทั่วไปของจังหวัด บางแห่งใช้สำหรับทำนา บางแห่งใช้สำหรับปลูกพืชไร่ ทรัพยากรน้ำ
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ต้นตะเคียนหิน
ดอกจานเหลืองดอกไม้ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ
ปลาสร้อยขาว สัตว์น้ำประจำจังหวัดอำนาจเจริญ
ตราประจำจังหวัด
พระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระประธานของภาพ แสงฉัพพรรณรังสี เปล่งรัศมีโดยรอบพระเศรียรซ้ายขวามีต้นไม้อยู่สองข้าง ถัดไปเป็นกลุ่มเมฆ ด้านล่างเป็นแถบป้ายชื่อจังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ใช้อักษรย่อว่า อจ.
คำขวัญประจำจังหวัด
พระมงคลมิ่งเมือง แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ งามล้ำถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เทพนิมิตพระเหลา เกาะแก่งเขาแสนสวย เลอค่าด้วยผ้าไหม ราษฎร์เลื่อมใสใฝ่ธรรม
วิสัยทัศน์
ประชาสังคมเข้มแข็ง แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี มีโอกาสทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิต
ดอกไม้ประจำจังหวัด ดอกจานเหลือง (Butea monosperma)
ต้นไม้ประจำจังหวัด ตะเคียนหิน (Hopea ferrea)
สัตว์น้ำประจำจังหวัด ปลาสร้อยขาว (Henicorhynchus siamensis )
ประชากร
ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นคนท้องถิ่นเชื้อสายไทย - ลาว และมีคนกลุ่มอื่นที่มีหลายเชื้อสาย และภาษาพูดต่างออกไปได้แก่ ชาวภูไท พบในเขตอำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม ส่วยและข่า พบในอำเภอชานุมาน ในชุมชนที่มีการค้าขายหรือในเขตเมือง จะมีคนไทยเชื้อสายจีนและญวนปะปนอยู่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดนับถือพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๙๗.๕๐ มีวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ ๒๖๖ แห่ง นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ ๒.๓๐ และนับถือศาสนาอิสลามน้อยมาก
ภาษาชาวอำนาจเจริญส่วนใหญ่ใช้ภาษาอีสาน เช่นเดียวกับชาวอีสานในจังหวัดอื่น ภาษาอีสานจัดเป็นประเภทภาษาถิ่นของภาษาไทย ส่วนภาษาเขียนใช้ภาษาไทย และอักษรไทย ถ้าเป็นเอกสารโบราณ เช่น หนังสือออก หนังสือก้อน บทสวด และตำนาน นิยมบันทึกด้วยตัวอักษรธรรม เป็นภาษาอีสาน ภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาขอม และภาษาไทย ภาษาอีสานถิ่นอำนาจเจริญ มีอยู่สามสำเนียง ได้แก่ สำเนียงอุบล ฯ สำเนียงบ้านน้ำปลีก และสำเนียงชายแดน สำเนียงอุบล ฯ มีลักษณะห้วน น้ำเสียงแข็ง และหนักแน่น สำเนียงบ้านน้ำปลีก มีลักษณะช้า และยืดเสียงท้ายคำให้ยาวออกไป มากกว่าสำเนียงอุบล ฯ ทำให้รู้สึกนุ่มนวลกว่า สำเนียงชายแดน เป็นสำเนียงผสมระหว่างสำเนียงอุบล ฯ และสำเนียงลาว ประชาชนที่อยู่ใกล้ชายแดนแถบอำเภอชานุมาน จะมีสำเนียงลาวผสมอยู่บ้าง ชาวอำนาจเจริญ ส่วนใหญ่พูดสำเนียงอุบล ฯ ภาษาผู้ไท ชาวผู้ไท มีภาษาใช้เฉพาะเผ่าคือ ภาษาผู้ไท เป็นภาษาพูด ไม่ปรากฏว่ามีภาษาเขียน ชาวผู้ไทส่วนใหญ่จะพูดได้ทั้งภาษาอีสาน และภาษาผู้ไท มีหลายหมู่บ้านที่ใช้ภาษาผู้ไทในการสื่อสารประจำวันคือ อำเภอเสนางคนิคม ที่บ้านนาสะอาด ตำบลเสนางคนิคม อำเภอชานุมาน ในตำบลคำเขื่อนแก้ว มีบ้านคำเดือย บ้านเหล่าแก้วแมง และบ้านสงยาง ในตำบลชานุมาน มีบ้านโนนกุง และบ้านหินสิ่ว ในตำบลโคกก่ง มีบ้านหินกอง บ้านบุ่งเขียว บ้านนางาม และบ้านพุทธรักษา ภาษาข่าพวกข่าเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำโขง มีวัฒนธรรมกลมกลืนกับชาวพื้นเมืองในท้องถิ่น เช่น พวกส่วย และลาว ชาวบ้านที่ใช้ภาษาข่าคือ ชาวบ้านดงแสนแก้ว และบ้านดงสำราญ ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน
สภาพเศรษฐกิจ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจขึ้นกับการเกษตรกรรม มีพื้นที่ถือครองทางการเกษตร รวมทั้งสิ้น 1,021,798 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 51.72 ของเนื้อที่ทั้งหมด
การทำนา พื้นที่นาถือครองมีสัดส่วน 869,574 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 85.10 ของพื้นที่ถือครองทำการเกษตร เป็นพื้นที่เก็บเกี่ยว 558,530 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 83,821 ตัน
การปลูกพืชไร่ มีการปลูกพืชไร่รวมพื้นที่ประมาณ 7,825 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.65 ของพื้นที่ถือครองทำการเกษตร
พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง ปอแก้ว ถั่วลิสง การอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นโรงสีข้าว และอุตสาหกรรมในครัวเรือน
เอกลักษณ์ประจำจังหวัด
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง
พระเหลาเทพนิมิตพระพุทธชินราชแห่งอีสาน
พระมงคลมิ่งเมือง
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีสรรพอาถรรพ์ เป็นมิ่งมงคลควรแก่การเคารพบูชาแก่ปวงชนทั่วไป เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำนาจเจริญโดยแท้ ประดิษฐานอยู่ที่เขาดานพระบาทซึ่งเป็นที่ตั้งพุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์มาแต่ดึกดำบรรพ์ อยู่ติดถนนสายชยางกูรเส้นทางอำนาจเจริญ-มุกดาหาร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๓ กิโลเมตร บริเวณโดยรอบตกแต่งเป็นพุทธมณฑลสำหรับเป็นที่บำเพ็ญและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ
การก่อตั้งจังหวัดอำนาจเจริญได้มาจากการรวมอำเภอด้านเหนือของจังหวัดอุบลราชานี ที่มาจากชาวลุ่มน้ำต่างๆ ๗ ลุ่มน้ำ ได้แก่ ชาวลุ่มน้ำโขง -อำเภอชานุมาน ชาวลุ่มน้ำละโอง-อำเภอเสนางคนิคม ชาวลุ่มน้ำพระเหลา-อำเภอพนาชาว ลุ่มน้ำห้วยยาง-อำเภอปทุมราชวงศา ชาวลุ่มน้ำเซบก-อำเภอลืออำนาจ ชาวลุ่มน้ำเซบาย-อำเภอหัวตะพาน ชาวลุ่มน้ำห้วยปลาแดกและเซบาย-อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ทั้ง ๗ อำเภอล้วนมีประเพณี วัฒนธรรม มีแหล่งโบราณคดีด้านศาสนาและศิลปกรรมมาแต่ครั้งอดีตกาล และต่อนี้ไป ประชาชนชาวเจ็ดลุ่มน้ำเหล่านี้จะผนึกกำลังกันพัฒนาจังหวัดอำนาจเจริญให้เป็นแหล่งแห่งความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต
งามล้ำถ้ำศักดิ์สิทธิ์
อำนาจเจริญมีถ้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังคือ ถ้ำแสงแก้วและถ้ำแสงเพชร ซึ่งตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาเดียวกัน เป็นสถานที่ที่เชื่อกันว่ามีเทพศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปที่สวยงาม นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศต่างมุ่งหน้าไปขอพรและปฏิบัติธรรมมิได้ขาด
เทพนิมิตพระเหลา
หมายถึงพระเหลาเทพนิมิต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะงดงามเป็นเลิศ ประดิษฐานอยู่ในวัดพระเหลาเทพนิมิตอำเภอพนาซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ "พระเหลา"เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาและเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงามที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีสมญานามว่า พระพุทธชินราชแห่งอีสาน มีความเชื่อว่าเทพยดาเป็นผู้นิมิตขึ้นมามีตำนานสร้างมาหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนทั่วไป
เกาะแก่งเขาแสนสวย
ที่สุดแดนสยามของจังหวัดอำนาจเจริญด้านอำเภอชานุมาน มีแม่น้ำโขงกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาว มีเกาะ แก่งที่สวยงาม มีภูเขาและป่าไม้กลายเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ ผู้คนสามารถไปเที่ยวชมและพักผ่อนได้ทุกฤดูกาล ผู้ใดได้ไปพบเห็นความสวยงามตามธรรมชาติแห่งนี้แล้วดุจดังต้องมนต์ขลังยากที่ลืมเลือน
เลอค่าด้วยผ้าไหม
ชาวอำนาจเจริญทุกอำเภอล้วนมีวัฒนธรรมการทอผ้า ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าลายขิดที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองที่มีชื่อเสียงมากได้แก่การทอผ้าไหมบ้านเปือย อำเภอลืออำนาจ ผ้าไหมบ้านสร้อย-บ้านจานลาน อำเภอพนา การทอผ้าลายขิดบ้านคำพระ อำเภอหัวตะพาน โดยเฉพาะผ้าไหมบ้านเปือย ได้รับยกย่องจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถว่าเป็นผ้าไหมที่งดงามล้ำเลอค่าและมีคุณภาพดีกว่าถิ่นใดๆ พระองค์ทรงกำหนดราคาขายไว้ให้อย่างเป็นธรรมโดยไม่ให้เอาเปรียบผู้ผลิตด้วย
ราษฏร์เลื่อมใสใฝ่ธรรม
ชาวจังหวัดอำนาจเจริญมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อทางพระพุทธศาสนา มีความเลื่อมใสศรัทธาในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีวัดให้ประกอบศาสนกิจทุกหมู่บ้าน ทวยราษฏร์เป็นคนดีมีคุณธรรม สังคมอำนาจเจริญอยู่กันด้วยความสุขสงบร่วมเย็น
ที่มา : วิกิพีเดีย สาราณุกรมเสรี